โรคกระเพาะอาหาร ถ้าใครไม่เคยเป็นคงไม่รู้หรอกว่าเวลาปวดแสบท้องนั้นทรมานขนาดไหน หลายคนจึงพยายามทานข้าวให้ตรงเวลาจะได้ไม่ปวดท้อง แต่เอ…แล้วสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร เป็นเพราะเราทานข้าวไม่ตรงเวลาเท่านั้นหรือเปล่านะ หรือมีสาเหตุอื่นด้วย กระปุกดอทคอม รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร อีกหนึ่งโรคที่อยู่ใกล้ตัวพวกเราทุกคนมาบอกกันอีกครั้งค่ะ
โรคกระเพาะอาหาร คืออะไร?
จริง ๆ แล้วโรคนี้มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “โรคแผลในกระเพาะอาหาร” แต่คนส่วนใหญ่เรียกสั้น ๆ ว่า โรคกระเพาะอาหาร หรือ โรคกระเพาะ แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้ยังหมายถึงโรคแผลที่ลำไส้เล็ก โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคลำไส้เล็กอักเสบอีกด้วย
สาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร
ต้องบอกว่าโรคกระเพาะอาหารมีกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อนมาก และเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ละสาเหตุจะทำให้เกิดภาวะที่มีกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากเกินไป จนไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- กลุ่มโรคกระเพาะชนิดมีแผล อาจเป็นแผลตรงกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น สาเหตุอาจเกิดจาก
– การใช้ยาต้านการอักเสบบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน นาโพรเซน ไพร็อกซิแคม ไดโคลฟีแนก ฯลฯ ซึ่งเป็นยาแก้ปวดต่าง ๆ หากใช้ติดต่อกันนาน อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะได้
– ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacterpylori) หรือ เอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งติดต่อได้จากการกินอาหาร เชื้อนี้จะอาศัยอยู่ในชั้นเมือกที่ปกคลุมผิวกระเพาะอาหาร แล้วสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่รอบ ๆ ตัวมัน และยังสร้างสารพิษทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารได้ จึงทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และนี่ก็เป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร อาจเรื้อรังถึงขั้นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
- กลุ่มโรคกระเพาะชนิดไม่มีแผล มีสาเหตุหลากหลาย เช่น
– การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
– การสูบบุหรี่
– การดื่มสุรา กาแฟ
– ความเครียด
– การรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
– ภาวะกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาหลอดอาหาร
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารระคายเคืองจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง แล้วนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้